การเคลื่อนที่ของสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง

การเคลื่อนที่ของสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง
การเคลื่อนที่ไส้เดือน
  • ไส้เดือน (earth worm) ไส้เดือนจัดอยู่ในไฟลัมแอนเนลิดา (annelida) ไส้เดือนมีกล้ามเนื้อ 2 ชุด คือ กล้ามเนื้อวงกลมรอบตัว (circular muscle) อยู่ทางด้านนอก และกล้ามเนื้อตามยาว (longitudinal muscle) ตลอดลำตัวอยู่ทางด้านใน นอกจากนี้ไส้เดือนยังใช้เดือย (setae) ซึ่งเป็นโครงสร้างเล็ก ๆ ที่ยื่นออกจากผนังลำตัวรอบปล้องช่วยในการเคลื่อนที่ด้วย
ขณะที่ไส้เดือนเคลื่อนที่จะใช้เดือยจิกดินไว้ กล้ามเนื้อวงกลมหดตัว ส่วนกล้ามเนื้อตามยาวคลายตัว ทำให้ลำตัวยืดยาวออก เมื่อสุดแล้วส่วนหน้า คือ ปล้องแรกของไส้เดือนกับเดือยจะจิกดินแล้วกล้ามเนื้อวงกลมคลายตัว กล้ามเนื้อตามยาวหดตัว ดึงส่วนท้ายของลำตัวให้เคลื่อนมาข้างหน้า การเคลื่อนที่ของไส้เดือน เกิดจากการทำงานร่วมกันของกล้ามเนื้อวงกลมและกล้ามเนื้อตามยาว หดตัวและคลายตัวเป็นระลอกคลื่นจากทางด้านหน้ามาทางด้านหลังทำให้เกิดการ เคลื่อนที่ไปทางด้านหน้า

รูปที่ 1 ไส้เดือน A ภาพเดือยบริเวณลำตัว B. ไส้เดือนกำลังเคลื่อนที่
ที่มา : ประสงค์ หลำสะอาด.ม.ป.ป. : 4
การเคลื่อนที่ของพลานาเรีย
  • พลานาเรีย (planaria) พลานาเรียเป็นสัตว์จำพวกหนอนตัวแบน อาศัยอยู่ในน้ำ
พลานาเรียมีกล้ามเนื้อ 3 ชนิด คือ
กล้ามเนื้อวง (circular muscle) อยู่ทางด้านนอก
กล้ามเนื้อตามยาว (longitudinal muscle) อยู่ทางด้านใน
กล้ามเนื้อทแยง (oblique muscle) ยึดอยู่ระหว่างส่วนบนและส่วนล่างของลำตัว
พลานาเรีย เคลื่อนที่โดยการลอยไปตามน้ำ หรือ คืบคลานไปตามพืชใต้น้ำโดยอาศัยกล้ามเนื้อวงและกล้ามเนื้อตามยาว ส่วนกล้ามเนื้อทแยงจะช่วยให้ลำตัวแบนบางและพลิ้วไปตามน้ำ ในขณะที่พลานาเรียเคลื่อนไปตามผิวน้ำซีเลียที่อยู่ทางด้านล่างของลำตัวจะโบกพัดไปมาช่วยเคลื่อนตัวไปได้ดียิ่งขึ้น

                 รูปที่ 2 แสดง การเคลื่อนที่ของพลานาเรีย ที่มา : ประสงค์ หลำสะอาด. ม.ป.ป. : 6

การเคลื่อนที่ของแมงกะพรุน
  • แมงกะพรุน (jelly fish)
แมงกะพรุนมีรูปร่างคล้ายกระดิ่ง มีลำตัวนิ่มมาก มีของเหลว เรียกว่า มีโซเกลีย (mesoglea) แทรกอยู่ระหว่างเนื้อเยื่อชั้นนอกและเนื้อเยื่อชั้นใน มีน้ำเป็นองค์ประกอบเป็นส่วนใหญ่ของลำตัวแมงกะพรุน เคลื่อนที่โดยการหดตัวของเนื้อเยื่อบริเวณขอบกระดิ่งและที่ผนังลำตัวสลับกัน ทำให้พ่นน้ำออกมาทางด้านล่างส่วนตัวจะพุ่งไปในทิศทางตรงข้ามกับทิศทางน้ำที่พ่นออกมา การหดตัวนี้จะเป็นจังหวะทำให้ตัวแมงกะพรุนเคลื่อนไปเป็นจังหวะด้วย


รูปที่ 3 การเคลื่อนที่ของแมงกะพรุน
ที่มา : สสวท, ชีววิทยา เล่ม 3 . 2547: 6
การเคลื่อนที่ของหมึก
  • หมึก (squid) หมึกเป็นสัตว์กลุ่มเดียวกับหอยหมึกเคลื่อนที่โดยการหดตัวของกล้ามเนื้อลำตัว พ่นน้ำออกมาจากไซฟอน (siphon) ซึ่งอยู่ทางส่วนล่างของส่วนหัวทำให้ตัวพุ่งไปข้างหน้าในทิศทางที่ตรงข้ามกับทิศทางของน้ำ นอกจากนี้เปลี่ยนแปลงทิศทางของน้ำที่พ่นออกมาและยังทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทิศทางของการเคลื่อนที่ด้วย ส่วนความเร็วขึ้นอยู่กับความแรงของการบีบตัวของกล้ามเนื้อลำตัวแล้วพ่นน้ำออกมาและหมึกยังมีครีบอยู่ทางด้านข้างลำตัวช่วยในการทรงตัวให้เคลื่อนที่ไปในทิศทางที่เหมาะสม


รูปที่ 4การเคลื่อนที่ของหมึก
ที่มา : สสวท. ชีววิทยา เล่ม 3 2547 : 7
การเคลื่อนที่ของดาวทะเล
  • ดาวทะเล (sea star) เป็นสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง มีโครงแข็งที่ผิวนอกไม่ได้ยึดเกาะกับกล้ามเนื้อ ดาวทะเลมีระบบการเคลื่อนที่ด้วยระบบท่อน้ำ (water vascular system) ประกอบด้วยมาดรีโพไรต์ (madrepolite) มีลักษณะคล้ายตะแกรงเป็นทางให้น้ำเข้า สโตนแคเนล (stone canal) เป็นท่อที่ต่อมาจากมาดรีโพไรต์ ริงแคแนล (ring canal) เป็นท่อวงแหวนที่อยู่รอบปากน้ำจาก มาดรีโพไรต์และสโตนแคแนล มาเปิดเข้าส่วนนี้ เรเดียลแคแนล (radial canal) เป็นท่อยาวยื่นจาก ริงแคแนลเข้าไปในอาร์มแต่ละอัน แลเทอรอลแคแนล (lateral canal) เป็นท่อสั้นๆ ที่ยื่นออกมาจากเรเดียลแคแนลทางด้านข้างจำนวนมาก ทิวบ์ฟีท (tube feet) มี ลักษณะเป็นหลอดยาวปลายตันที่ต่อมาจากแลเทอรอบแคแนล ทิวบ์ฟีท เป็นท่อปิดรูปทรงกระบอก ปลายที่ยื่นออกนอกลำตัวมีผนังเป็นกล้ามเนื้อทำหน้าที่เป็นอวัยวะเกาะติดหรือ ชัคเกอร์ (sucker) ปลายอีกด้านหนึ่งเป็นกระเปาะกล้ามเนื้อเรียกว่า แอมพูลลา (ampulla)
ดาวทะเลเคลื่อนที่โดยแอมพลูลาหดตัว จะดันน้ำไปตามทิวบ์ฟีททำให้ทิวบ์ฟีทยืดยาวออก
เมื่อ เคลื่อนที่ไปแล้วทิวบ์ฟีทหดสั้นเข้า ดันน้ำกลับเข้าสู่แอมพูลลาใหม่ การหดตัวและคลายตัวของทิวบ์ฟีทอาศัยแรงดันของน้ำ ไม่อาศัยแอนตาโกนิซึมของกล้ามเนื้อ การยืดและหดตัวของทิวบ์ฟีท หลายๆ อันต่อเนื่องกันทำให้ดาวทะเลเคลื่อนไหวได้

รูปที่ 5 การเคลื่อนที่ของดาวทะเล
การเคลื่อนที่ของแมลง
  • แมลง (insect) เป็นสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังแต่แมลงมีโครงร่างภายนอก (exoskeleton) ซึ่งเป็นสารพวกไคทินมีลักษณะเป็นโพรงเกาะกันด้วยข้อต่อซึ่งเป็นเยื่อที่งอได้ ข้อต่อข้อแรกของขากับลำตัว เป็นข้อต่อแบบบอลแอนด์ซอกเก็ต (ball and socket) ส่วนข้อต่อแบบอื่นๆ เป็นแบบ บานพับ การเคลื่อนไหวเกิดจากทำงานสลับกันของกล้ามเนื้อเฟล็กเซอร์ (flexor) และเอ็กเทนเซอร์ (extensor) ซึ่งเกาะอยู่โพรงไคทินนี้ โดยกล้ามเนื้อเฟล็กเซอร์ (flexor) ทำหน้าที่ในการงอขา และกล้ามเนื้อเอ็กเทนเซอร์ (extensor) ทำหน้าที่ในการเหยียดขา ซึ่งการทำงานเป็นแบบแอนทาโกนิซึม (antagonism) เหมือนกับคน


รูปที่ 6 ตำแหน่งกล้ามเนื้อที่ใช้ในการเคลื่อนที่ของตั๊กแตน
ที่มา : สสวท. ชีววิทยา เล่ม 3 2547 : 7
แมลงเป็นสัตว์ขนาดเล็ก มีลำตัวเบา แต่มีปีกขนาดใหญ่เมื่อเทียบกับลำตัว แมลงมีระบบกล้ามเนื้อเป็น 2 แบบ คือ
1. ระบบกล้ามเนื้อที่ติดต่อกับโคนปีกโดยตรง
มีกล้ามเนื้อคู่หนึ่งเกาะอยู่ที่โคนปีกด้านในและส่วนท้องเมื่อกล้ามเนื้อคู่นี้หด ตัวจะทำให้ปีกยกขึ้น และกล้ามเนื้ออีกคู่หนึ่งเกาะอยู่กับโคนปีกด้านนอกและส่วนท้องเมื่อกล้ามเนื้อคู่นี้ หดตัวจะทำให้ปีกลดตัวต่ำลง การทำงานของกล้ามเนื้อมัดนี้เป็นแบบแอนทาโกนิซึม (antagonism) ทำให้ปีกของแมลงยกขึ้นและกดลง จึงทำให้เกิดการบินขึ้นได้แก่ แมลงชนิดต่าง ๆ เช่น แมลงปอ
ผีเสื้อ
2. ระบบกล้ามเนื้อที่ไม่ติดต่อกับปีกโดยตรง
ระบบ กล้ามเนื้อที่ไม่ติดกับปีกโดยตรง แต่ติดต่อกับผนังส่วนอก กล้ามเนื้อคู่หนึ่งเป็นกล้ามเนื้อตามขวาง โดยเกาะอยู่กับผนังด้านบนของส่วนอกกับผนังด้านล่างของส่วนอก เมื่อกล้ามเนื้อคู่นี้หดตัวทำให้ช่องอกแคบเข้าและลดต่ำลงเกิดการยกปีกขึ้น ส่วนกล้ามเนื้ออีกคู่หนึ่งจะเป็นกล้ามเนื้อตามยาวไปตามลำตัวเมื่อกล้ามเนื้อคู่นี้หดตัว ทำให้ช่วงอกยกสูงขึ้นทำให้กดปีกลงด้านล่าง การทำงานของกล้ามเนื้อทั้งสองคู่นี้จะทำงานประสานกันเป็นแบบ แอนทาโกนิซึม (antagonism) จึงทำให้ปีกขยับขึ้นลงและบินไปได้ ได้แก่ แมลง

รูปที่ 7 การทำงานของกล้ามเนื้อของแมลงขณะยกปีกขึ้นและขณะกดปีกลง
ที่มา : สสวท. ชีววิทยา เล่ม 3, 2547 : 10

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

แบบทดสอบเรื่องการเคลื่อนที่ของสิ่งมีชีวิต

การเคลื่อนที่ของสิ่งมีชีวิตเซลล์เดียว