โครงสร้างของเนื้อเยื่อถาวร


 โครงสร้างของเนื้อเยื่อถาวร

เนื้อเยื่อถาวรเป็นเนื้อเยื่อพืชซึ่งเจริญเติบโตเต็มที่แล้ว ประกอบด้วยกลุ่มเซลล์ที่แปรสภาพมาจากเนื้อเยื่อเจริญ มีรูปร่างคงที่ ไม่มีการแบ่งตัวเพิ่มขึ้นอีก และมีหน้าที่เฉพาะอย่าง

ชนิดของเนื้อเยื่อถาวร

เนื้อเยื่อถาวรสามารถจำแนกได้ตามระยะการเจริญเติบโตเป็น 2 ชนิด คือ

1. เนื้อเยื่อถาวรปฐมภูมิ (Primary permanent tissue) เป็นเนื้อเยื่อถาวรที่เจริญมาจากเนื้อเยื่อเจริญปฐมภูมิ ได้แก่ เอพิเดอร์มิส พาเรงคิมา คอลเลงคิมา สเกลอเรงคิมา เอนโดเดอร์มิส ไซเลมปฐมภูมิ และโฟลเอ็มปฐมภูมิ เป็นต้น

2. เนื้อเยื่อถาวรทุติยภูมิ (Secondary permanent tissue) เป็นเนื้อเยื่อถาวรที่เจริญมาจากเนื้อเยื่อเจริญทุติยภูมิ ได้แก่ เพริเดิร์ม ไซเลมทุติยภูมิ และโฟลเอ็มทุติยภูมิ เป็นต้น


ชนิดของเนื้อเยื่อถาวรจำแนกตามลักษณะของเซลล์แบ่งเป็น 2 ชนิด คือ

1. เนื้อเยื่อถาวรเดี่ยว (Simple permanent tissue) ประกอบด้วยกลุ่มเซลล์ชนิดเดียวกันล้วนๆ ทำหน้าที่อย่างเดียวกัน ได้แก่ เอพิเดอร์มิส พาเรงคิมา คอลเลงคิมา สเกลอเรงคิมา และเพอริเดิร์ม เป็นต้น

2. เนื้อเยื่อถาวรเชิงซ้อน (Complex permanent tissue) ประกอบด้วยเซลล์หลายชนิดอยู่รวมกันเป็นกลุ่มก้อน เพื่อทำหน้าที่ร่วมกัน ได้แก่ ไซเลมและโฟลเอ็ม ซึ่งอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม เรียก เนื้อเยื่อท่อลำเลียง (Vascular tissue)



การเจริญพัฒนาของระบบเนื้อเยื่อพืช

การเจริญพัฒนาของระบบเนื้อเยื่อเกิดขึ้นโดยเนื้อเยื่อเจริญเริ่มแรกหรือเนื้อเยื่อเจริญปลายยอด ปลายรากของพืชมีการแบ่งตัว (Cell division) ขยายขนาดของเซลล์ (Cell elongation) เปลี่ยนแปลงรูปร่างลักษณะและคุณสมบัติทางสรีรวิทยาของเซลล์ (Cell differentiation) ไปเป็นเนื้อเยื่อเจริญปฐมภูมิ และจะมีการเปลี่ยนแปลงต่อไปเป็นเนื้อเยื่อถาวรปฐมภูมิ (Primary permanent tissue) ซึ่งจัดเป็นระยะที่พืชมีการเจริญเติบโตปฐมภูมิ (Primarygrowth) โดยมีขั้นตอนการเปลี่ยนแปลงดังต่อไปนี้คือ

1. โพรโทเดิร์ม (Protoderm) เป็นบริเวณผิวนอกสุดมีความหนาเพียงชั้นเดียว มีการเปลี่ยนสภาพต่อไปเป็นเซลล์ผิวชั้นนอกหรือเอพิเดอร์มิส

2. โพรแคมเบียม (Procambium) เป็นเนื้อเยื่อที่อยู่รวมเป็นกลุ่มแทรกอยู่บริเวณส่วนกลางของปลายยอดหรือปลายราก จะมีการเปลี่ยนสภาพไปเป็นเนื้อเยื่อท่อลำเลียงปฐมภูมิ คือ ไซเลมและโฟลเอ็ม นอกจากนี้อาจเปลี่ยนสภาพไปเป็นเนื้อเยื่อที่ให้กำเนิดรากแขนง หรือเพริไซเคิล

3. กราวด์เมอริสเต็ม (Ground meristem) เป็นเนื้อเยื่อที่อยู่ถัดโพรโทเดิร์มเข้าไป จะเจริญแปรสภาพไปเป็นเนื้อเยื่อถาวรซึ่งเป็นเซลล์พื้นของรากและลำต้น ได้แก่ พาเรงคิมา คอลเลงคิมา สเกลอเรงคิมา ในบริเวณคอร์เทกซ์และไส้ในหรือพิธ (Pith)










ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

แบบทดสอบเรื่องการเคลื่อนที่ของสิ่งมีชีวิต

การเคลื่อนที่ของสิ่งมีชีวิตเซลล์เดียว

การเคลื่อนที่ของสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง